- MOOC คือการเรียนคอร์สออนไลน์กับมหาวิทยาลัยทั่วโลก เพียงปลายนิ้วคลิก ซึ่งมีความต่างจาก E-learning
- มหาวิทยาลัยทั่วโลกเปิดคอร์สออนไลน์ไปแล้วกว่า 700 แห่ง แจ้งเกิดเว็บไซต์ MOOC ชั้นนำกว่า 30 แห่ง
- ในไทย ตลาด MOOC เริ่มคึกคัก อาทิ Chula MOOC ล่าสุดยอดลงทะเบียนเรียนเฉียด 6 หมื่น ยอดเรียนจบ 26% แซง MOOC ชั้นนำของโลกแล้ว
ทันทีที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ฮาร์วาร์ด และ MIT เปิดหลักสูตรออนไลน์ให้คนเข้าไปเรียนฟรีเป็นแห่งแรกในปี 2012 ซึ่งรู้จักกันแพร่หลายในเวลาต่อมา ในชื่อของ “MOOC” (Massive Open Online Courses) ไม่ทันข้ามปี การเรียนการสอนในรูปแบบ MOOC ได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก มีผู้ลงทะเบียนเรียนบน MOOC ไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน ไม่เฉพาะแต่ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่มีมหาวิทยาลัยทั่วโลกกว่า 700 แห่ง ที่หันมาเปิดคอร์สเรียนออนไลน์
ในปี 2016 มีผู้ลงทะเบียนเรียนบน MOOC ไม่ต่ำกว่า 58 ล้านคน มีเว็บไซต์ MOOC ของมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกทยอยเปิดตัวอย่างคึกคัก ล่าสุดจากการรวบรวมของ Dhawal Shah ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ class-central.com มีเว็บไซต์ที่ให้บริการคอร์สออนไลน์ หรือ MOOC มากกว่า 30 เว็บไซต์ สะท้อนถึงการเติบโตของตลาด MOOC ได้เป็นอย่างดี
MOOC ต่างจากอีเลิร์นนิ่ง (E-learning) อย่างไร ?
ชื่อเต็มของ MOOC คือ Massive Open Online Courses หมายถึง การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ ที่รองรับผู้เรียนจำนวนมาก ไม่จำกัดเพศ วัย การศึกษา โดยให้บริการฟรี และเป็นการเรียนรู้แบบ Anywhere Anytime นั่นคือ เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านสมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต โดยเรียนผ่านวิดีโอ บรรยายโดยอาจารย์เจ้าของวิชา มีแบบฝึกหัดหลังบทเรียน
นอกจากนี้ บางแพลตฟอร์มยังมีกระดานสนทนา หรือฟอรั่ม (Forum) ให้ผู้เรียนได้เข้าไปสนทนา แลกเปลี่ยนความรู้กับผู้สอน หรือผู้เรียนด้วยกันเองอีกด้วย ส่วน อีเลิร์นนิ่ง (e-learning) เป็นการเรียนการสอนสำหรับผู้เรียนเฉพาะกลุ่ม เรียนในสถาบันการศึกษานั้นๆ หรือเปิดให้คนนอกเข้ามาเรียน โดยเก็บค่าเล่าเรียน
ดังนั้น สิ่งที่ MOOC แตกต่างจาก อีเลิร์นนิ่ง คือ เป็นการเรียนรู้ตามอัธยาศัย ที่ใครก็สามารถเรียนบน MOOC ได้ แม้ว่าปัจจุบันจะมีบางคอร์สที่เก็บค่าเล่าเรียน แต่เป้าหมายของ MOOC ส่วนใหญ่คือ การให้บริการฟรี
รศ.ดร.แนบบุญ หุนเจริญ ผู้ช่วยอธิการบดีด้านวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้คำจำกัดความและประโยชน์ของ MOOC ว่า เป็นบทเรียนออนไลน์ที่วางอยู่บนแพลตฟอร์ม (platform) หรือระบบที่สามารถสอนคนจำนวนมากได้ทีเดียวพร้อมๆ กัน และไม่จำกัดเฉพาะนิสิตนักศึกษาที่เรียนในสาขาวิชานั้นๆ หรือมหาวิทยาลัยนั้นๆ ใครก็สามารถเรียนบน MOOC ได้ ซึ่งเป็นรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ลดความเหลื่อมล้ำ และโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของประชากรโลก รวมทั้งเป็นการเปิดให้คนจำนวนมากที่สนใจในเรื่องเดียวกันได้มาเรียนรู้ร่วมกัน จะเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ที่กว้างไกลจากผู้คนทั่วโลก ไม่จำกัดเฉพาะในห้องเรียนหรืออาจารย์ผู้สอนคนใดคนหนึ่ง สามารถประยุกต์ใช้กับการเรียนรู้ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ตามอัธยาศัย ซึ่งเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับคนทุกเพศทุกวัย ทุกอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา คนทำงาน ผู้สูงอายุ ผู้ประกอบการธุรกิจ และแต่ละคนสนใจเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ซึ่ง MOOC มีวิชาและเนื้อหาที่หลากหลายให้เลือกเรียน
นอกจากเป็นการเปิดให้คนทั่วโลกสามารถเรียนวิชาต่างๆ ที่ดีไซน์โดยมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกบน MOOC โดยอาจารย์ผู้สอนที่มีชื่อเสียงจากทั่วโลก ซึ่งเป็นโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของประชากรโลกในยุคการศึกษาไร้พรมแดนแล้ว MOOC ยังเป็นหนึ่งในเครื่องมือของมหาวิทยาลัยชั้นนำในการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งและเป็นที่รู้จักมากขึ้น
เว็บไซต์ที่ให้บริการ MOOC รายแรกและรายใหญ่ของโลก อย่าง Coursera ซึ่งก่อตั้งโดยอาจารย์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด จึงเป็นแหล่งรวมของมหาวิทยาลัยมากกว่า 150 แห่ง ที่เปิดสอนวิชาต่างๆ บน MOOC มีหลักสูตรมากกว่า 2,700 หลักสูตร มีผู้เรียนมากกว่า 35 ล้านคน
เช่นเดียวกับ edX ก่อตั้งโดยมหาวิทยาลัยฮาร์วาด และ MIT ผู้ให้บริการ MOOC รายใหญ่อันดับ 2 ของโลก มีผู้เรียนมากกว่า 10 ล้านคน มีหลักสูตรมากกว่า 1,500 หลักสูตร และมีพาร์ตเนอร์มหาวิทยาลัยมากกว่า 100 แห่ง
ส่วนอันดับ 3 คือ Udacity เว็บออนไลน์แนว Tech Unicorn ก่อตั้งโดยศาสตราจารย์ Sebastian Thrun จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังโปรเจกต์ Self – driving Car หรือรถขับเองได้ ของ Google เปิดคอร์สออนไลน์ให้เรียนฟรีมากกว่า 200 หลักสูตร และยังเป็นเว็บไซต์ MOOC ที่กูเกิลให้การสนับสนุน และร่วมจัดการเรียนการสอน เช่น เปิดคอร์ส Android โดยผู้ที่เรียนจบหลักสูตรนี้ได้ใบรับรองที่เรียกว่า nanodegree จาก Udacity และ Google
นอกจากนี้ ยังมีมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในยุโรปและเอเซียที่ให้บริการ MOOC เช่น สเปน ฝรั่งเศส อิตาลี เม็กซิโก รัสเซีย อินเดีย จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลี ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์มมีจุดเด่นแตกต่างกันไป รวมถึงประเทศไทยก็เปิดให้บริการหลักสูตรออนไลน์ โดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยไทยและหน่วยงานในประเทศ ภายใต้โครงการ มหาวิทยาลัยไซเบอร์ หรือ “Thailand Cyber University Project (TCU)” โดยความร่วมมือระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงดิจิทัลฯ
ตัวเลขล่าสุดมีมหาวิทยาลัยและหน่วยงานในประเทศเข้าร่วมโครงการ 47 แห่ง เข้าร่วม มีบทเรียนให้เลือกเรียน 368 บทเรียน จำนวน 17 หลักสูตร และที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่นานคือ “Thai MOOC” ภายใต้โครงการ TCU มีมหาวิทยาลัยมากกว่า 50 แห่ง ร่วมผลิตเนื้อหา มีรายวิชาให้เลือกเรียนมากกว่า 150 รายวิชา โดยเปิดให้เรียนฟรีทั้งสองแพลตฟอร์ม นอกจากนี้ ยังมีคอร์สออนไลน์ที่เน้นผู้เรียนเฉพาะกลุ่ม เช่น SkillLane Khan Academy ไทย
ส่วนมหาวิทยาลัยไทย เช่น ธรรมศาสตร์ เปิดตัว Gen Next Academy การเรียนในรูปแบบ MOOC ด้วยการนำเทคโนโลยีและวิธีการเรียนการสอนสมัยใหม่มาผสมผสานกัน พร้อมตั้งเป้าผลิตสื่อการสอนแบบออนไลน์ 40 วิชาต่อปี เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงได้จากทุกที่ ทุกเวลา ขณะที่ มหิดล มีเปิดหลักสูตรออนไลน์ในบางศาสตร์แล้วเช่นกัน
ที่กำลังมาแรงและได้รับการตอบรับจากผู้เรียนจำนวนมาก หลังจากเปิดตัวไปได้ไม่กี่เดือนคือ “Chula MOOC” ซึ่งพัฒนาและออกแบบโดยนักวิจัยของจุฬาฯ ภายใต้การดูแลของศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อถ่ายทอดความรู้สู่สังคม ในโอกาสครบรอบ 100 ปี จุฬาฯ ภายใต้คำขวัญ “Anyone can learn” โดยเปิดให้บริการเมื่อต้นเดือนกันยายนปีที่แล้ว เป็นคอร์สออนไลน์ที่มียอดผู้สมัครเรียนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ตัวเลขล่าสุดมีผู้ลงทะเบียนเรียนบน Chula MOOC ไปแล้วร่วม 60,000 คน และมียอดคนเรียนจบมากถึง 26% ซึ่ง มากกว่า MOOC บนแพลตฟอร์มสากลอื่น ที่มีผู้สำเร็จการศึกษาเพียง 5 – 10 % เป็นแพลตฟอร์ม MOOC ที่มีวิชาหลากหลาย ตอบโจทย์ผู้เรียนทุกเพศ ทุกวัย และทุกระดับการศึกษา
กลุ่มที่ลงทะเบียนเรียนมากที่สุดคือ คนทำงาน รองลงมาคือ นิสิตนักศึกษา โดยมีรายวิชาให้เลือกมากถึง 30 วิชา แบ่งออกเป็น 5 หมวด ได้แก่ หมวดการจัดการธุรกิจ วิทยาการคอมพิวเตอร์ ภาษา ศิลปะและการพัฒนาตนเอง และหมวดสุขภาพ
รศ.ดร.แนบบุญ หุนเจริญ ผู้ช่วยอธิการบดีด้านวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า เป้าหมายของ Chula MOOC คือเน้นการเรียนรู้ตามอัธยาศัย เพื่อให้ผู้เรียนนำความรู้ไปพัฒนาคุณภาพชีวิตและเสริมสร้างทักษะการทำงาน ดังนั้น เนื้อหาที่เปิดสอนบน MOOC ถูกคัดสรรและออกแบบให้ตรงกับความต้องการของผู้เรียนและการนำไปใช้ประโยชน์ และไม่ซ้ำซ้อนกับวิชาที่คณะต่างๆ เปิดสอนในระบบปกติ
หลายวิชามีผู้สมัครเต็มภายในไม่กี่ชั่วโมง เช่น มหากาพย์ อังกฤษ อัปเกรด ตั้งไข่ไวยากรณ์ เปิดรับ 2,000 คน มีคนสมัครเรียนเต็มภายใน 2 ชั่วโมง หรือวิชา Intro to Data Analytics เปิดรับ 2,000 คน เต็มภายใน 5 ชั่วโมง และอีกหลายวิชา เช่น ภาษาอาหรับในชีวิตประจำวัน สิ่งแวดล้อมเรื่องของเรา: Environment มีผู้สมัครเรียนเต็มก่อนวันปิดรับสมัครเช่นกัน
“แพลตฟอร์มของ Chula MOOC เป็นแพลตฟอร์มที่เป็นมาตรฐานสากล นอกจากมีรายวิชาที่หลากหลาย ตอบโจทย์การเรียนรู้ตามอัธยาศัยของคนทุกเพศทุกวัยแล้ว การจัดการเรียนรู้บน MOOC เอื้อต่อการเรียนและการนำความรู้ในวิชาที่เรียนไปใช้ นั่นคือ นอกจากจะเรียนผ่านวิดีโอกับอาจารย์ผู้สอนแล้ว เรายังมีกระดานสนทนา (ฟอรั่ม) ให้ผู้เรียนกับอาจารย์ และผู้เรียนด้วยกันได้สนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ มีแบบทดสอบหลังบทเรียน และมีประกาศนียบัตรให้สำหรับผู้ที่เรียนจบในรายวิชานั้นๆ
“นอกจากนี้ อนาคตจะมีระบบสะสมหน่วยกิต (Cradit Bank) สำหรับคนทำงานที่ไม่มีเวลาเรียนในระบบปกติ สามารถเรียนและทำงานไปด้วยได้ เมื่อสะสมหน่วยกิตครบ สามารถนำไปเทียบโอนเพื่อขอรับปริญญาได้ และอีกหนึ่งจุดเด่นของ Chula MOOC ที่ต่างจากที่อื่น คือ การจำกัดคนเรียนในแต่ละรายวิชาไม่เกิน 2,000 คน เพื่อให้ระบบสามารถดูแล ติดตามผู้เรียนเป็นรายบุคคลได้ เพราะเรามองว่าแม้จะเป็นการเรียนตามอัธยาศัยที่ไม่จำกัดจำนวนผู้เรียนก็จริง แต่เราต้องการให้คนที่เข้ามาเรียน เรียนจบและได้รับ Certificate จากเรา หลังจากที่เรียนจบบทและทำแบบทดสอบ ซึ่งเป็นระบบที่จูงใจให้ผู้เรียน เรียนจบตามเป้าหมาย จะเห็นว่าขณะนี้เรามีคนเรียนจบมากถึง 26% ภายในเวลาไม่ถึงปี” รศ.ดร.แนบบุญ กล่าว
รศ.ดร.แนบบุญ กล่าวต่อว่า โครงการ Chula MOOC ครบรอบ 1 ปี เมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา เป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จ ได้รับการตอบรับจากผู้เรียนเป็นอย่างมาก ดังนั้น เป้าหมายของ Chula MOOC ในปีที่ 2 ยังคงเป็น การเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อคนทุกเพศทุกวัยเหมือนเดิม แต่จะขยายเพิ่มอีกโครงการคือ CHULA MOOC Achieve โดยดำเนินการร่วมกับภาคเอกชน เพื่อพัฒนาศักยภาพ ขีดความสามารถของคนทำงานในภาคธุรกิจ ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยใช้คำขวัญว่า “Pathway to success”
รูปแบบของ CHULA MOOC Achieve เป็นการนำวิชาต่างๆ ที่จะช่วยเสริมสร้างทักษะการทำงาน นอกเหนือจากทักษะเฉพาะทางวิชาชีพที่มีอยู่แล้ว เช่น ทักษะการนำเสนอ ทักษะการสื่อสาร การใช้ไอที นำมาร้อยเรียงเป็น Path Way หรือชุดวิชาอยู่บน MOOC โดยออกแบบไว้ทั้งหมด 10 Pathway (ชุดวิชา) โดย Pathway แรกที่จะเปิดสอนคือ Data Science Pathway ซึ่งเป็นชุดวิชาที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มธุรกิจธนาคารอย่างมาก
“ข้อดีของการเรียนรู้ในรูปแบบของ Pathway คือ สามารถรองรับผู้เรียนจำนวนมาก ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย เมื่อเทียบกับการจัดอบรมตามโรงแรมหรือสถานที่ต่างๆ ที่รองรับผู้เรียนได้จำนวนจำกัด และความรู้ที่ได้ไม่จำกัดอยู่เฉพาะในช่วงของการอบรม 2 – 3 เดือน ซึ่งคอร์สเรียนของ CHULA MOOC Achieve แต่ละ Pathway มีเวลาเรียนไม่ต่ำกว่า 2 เดือน เรียนจบแล้วสามารถนำความรู้ไปใช้ในการทำงานได้เลย ไม่เข้าใจตรงไหนสามารถกลับมาทบทวนบทเรียนได้ มีฟอรั่มให้ซักถาม สนทนาแลกเปลี่ยนความรู้กับอาจารย์ผู้สอนและผู้เรียนด้วยกันเอง
“หลังจากเรียนเนื้อหาบน Pathway จบ และรับประกาศนียบัตรแล้ว จะมีเวิร์กชอปโดยนำกรณีศึกษามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เป็นคอร์สออนไลน์ที่เรียนจบแล้วสามารถนำไปพัฒนาขีดความสามารถของตนเองและพัฒนาองค์กรได้จริง คาดว่า Pathway แรกจะเริ่มเปิดสอนในเดือนตุลาคมนี้” ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวทิ้งท้าย
แม้ว่าปัจจุบันการเรียนการสอนบน MOOC ยังไม่สามารถทดเแทน หรือแทนที่การเรียนการสอนในห้องเรียนปกติ แต่อิทธิพลของ MOOC หรือคอร์สออนไลน์ที่เปิดให้คนทั่วโลกสามารถเรียนฟรีได้ทุกที่ ทุกเวลา และเป็นการจัดการศึกษาที่ลงทุนไม่สูง เมื่อเทียบกับการจัดการศึกษาในระบบ ส่งผลให้มหาวิทยาลัยในอเมริกาจำนวนมากต้องปิดตัวลง จากการรุกคืบของ MOOC
คงต้องจับตามองกันต่อไปว่า MOOC เทรนด์การเรียนรู้ในยุคดิจิทัลครองโลก จะเป็น “วิกฤติ” หรือ “โอกาส” ต่อระบบการศึกษาของโลกในอนาคต
บทความโดย: สิริลักษณ์ เล่า
ผู้สื่อข่าวอาวุโส เชี่ยวชาญด้านการศึกษา, อดีต บก.ฉบับพิเศษ บมจ.มติชน
อ่านข่าวอื่นได้ที่
เว็บไซต์: workpointnews.com
เฟซบุ๊ก: ข่าวเวิร์คพอยท์ ตลาดข่าว
ยูทูบ: workpoint news
ทวิตเตอร์: workpoint news
อินสตาแกรม: workpointnews