“KPI นี่คืออะไรหรอคะ”
สุชาดาน้องใหม่ของทีมที่เพิ่งเริ่มทำงานได้ไม่นานถามขึ้นมาขณะที่กำลังฟังพี่คนอื่น ๆ ในทีมคุยกันเรื่องการประเมินผลงานปลายปีที่กำลังมาถึง ซึ่งในการสนทนานั้นมีคำหนึ่งคำที่เธอไม่เข้าใจ และสงสัยว่ามันคืออะไร คำนั้นก็คือ “KPI” นั่นเอง
เมื่อใกล้จะปลายปีสิ่งหนึ่งที่คนทำงานต้องเจอกันเป็นประจำก็คือการประเมินผลงานปลายปี ที่นอกจากจะมีประโยชน์ต่อองค์กรในแง่ของการวัดความสามารถของบุคลากรแล้ว สำหรับคนทำงานเอง ก็เป็นเหมือนการสรุปภาพรวมการทำงานของตัวเองตลอดช่วงปีที่มา รวมถึงมองไปยังอนาคตว่าเราต้องปรับปรุงตัวเองในจุดไหนบ้าง ซึ่งการประเมินปลายปีนั้นก็มีวิธีการหลายแบบตามแต่ธุรกิจของบริษัท การใช้ KPI ก็เป็นเทคนิคหนึ่งที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้ว KPI คืออะไร JobThai จะพาไปทำความรู้จักกับสิ่งนี้กันให้มากขึ้น
- KPI ย่อมาจาก Key Performance Indicator เป็นดัชนีชี้วัดผลงานหรือความสำเร็จของงาน โดยเทียบผลการปฏิบัติงานกับเป้าหมายหรือมาตรฐานที่ตกลงกันไว้
- นอกจากจะใช้ประเมินผลการทำงานของพนักงานได้แล้ว ยังสามารถใช้วัดและประเมินความก้าวหน้าขององค์กรได้อีกด้วย
- ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานที่ดีควรมีความเหมาะสม และเป็นที่น่าเชื่อถือ และสามารถวัดได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่ง KPI ควรจะแตกต่างกันไปในแต่ละตำแหน่งหรือแผนก
KPI ย่อมาจากคำว่า Key Performance Indicator
ซึ่งแต่ละคำก็มีความหมาย ดังนี้
- Key: จุดหลัก หัวข้อหลัก หรือ เป้าหมายหลัก
- Performance: ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล หรือ ผลของการกระทำ
- Indicator: ตัวชี้วัดหรือดัชนีชี้วัด
Key Performance Indicator จึงหมายถึง ดัชนีชี้วัดผลงานหรือความสำเร็จของงาน โดยเทียบผลการปฏิบัติงานกับมาตรฐานหรือเป้าหมายที่ตกลงกันไว้ นอกจากจะเป็นวิธีการประเมินผลงานของพนักงานแล้ว ยังเป็นวิธีที่องค์กรสามารถใช้ในการวัดและประเมินผลความก้าวหน้าของการบรรลุวิสัยทัศน์ขององค์กร เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานขององค์กรได้ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ การจะทำ KPI ให้ได้ผลนั้น ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานที่ดีควรมีความเหมาะสม สามารถที่จะโน้มน้าวให้ทุกคนในองค์กร ตลอดจนสาธารณชนเชื่อถือ ซึ่งผลงานที่วัดจากตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลักจะแสดงถึงภารกิจที่องค์กรจะต้องปฏิบัติบนพื้นฐานของเป้าหมายที่ตั้งไว้โดยต้องสามารถวัดได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ดัชนีการชี้วัดหรือ KPI ที่ดีก็ควรมีคุณลักษณะในการวัดผลงานของบุคลากรในแต่ละระดับงาน ตำแหน่งงานที่เหมาะสมด้วย แต่ละองค์กร หรือแต่ละตำแหน่งงานอาจจะมี KPI ที่แตกต่างกันก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ฝ่ายขายอาจตั้งค่า KPI จากเปอร์เซ็นต์รายได้ที่กลับเข้าสู่องค์กร หรือฝ่ายบริการลูกค้าอาจวัดผลค่า KPI จากการตอบคำถามของพนักงานไปสู่ลูกค้าอย่างครบถ้วนโดยกำหนดเงื่อนไขด้านเวลา
จะเห็นได้ว่า KPI นั้นนับเป็นอีกหนึ่งมาตรฐานการชี้วัดผลที่ได้รับการยอมรับอย่างมากในองค์กร ซึ่งบริษัทก็จำเป็นต้องทำความเข้าใจร่วมกันกับบุคลากรในการประเมินหรือชี้วัดผลผ่านการใช้ KPI ให้ได้อย่างเหมาะสมด้วย เพื่อพัฒนาและยกระดับศักยภาพองค์กรให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน