9 กระบวนทัศน์ เปลี่ยน Me-Society เป็น We-Society
ผมได้มาร่วมงาน CEO Innovation Forum 2019 ซึ่งจัดโดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี เมื่อวานนี้( 26 ก.ย 62) ครับ
ผมได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “Empowering the Next Gens for Defining their Own Future” สาระสำคัญสรุปได้ดังนี้ครับ
ปัจจุบัน เราอยู่ในยุคที่เต็มไปด้วยความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน และความกำกวม เราอยู่ในยุคที่วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างไม่เคยมีมาก่อน การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้ก่อให้เกิด การเปลี่ยนแปลงในมนุษยชาติ เชื่อมต่อเป็นวงจร ซึ่งวงจรนี้จะเป็นวงจรอุบาทว์ หรือวงจรที่ทำให้โลกเราดีขึ้นนั้น อยู่ภายใต้มือของพวกเราครับ
ในหลายศตวรรษที่ผ่านมา เรามุ่งเน้นสู่ “ยุคแห่งความทันสมัย” (Modernism) โดยยึดติดกับ “สังคมของฉัน” (Me-society) แต่ตอนนี้เราต้องปรับเป็นการมุ่งเน้นสู่ “ยุคแห่งความยั่งยืน” (Sustainism) และต้องปรับเป็น “สังคมของเรา” (We-society) เป็นการเติบโตอย่างสมดุลโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงควรคู่ไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ผมได้นำเสนอ 9 กระบวนทัศน์ เพื่อเปลี่ยน “สังคมของฉัน” Me-Society เป็น “สังคมของเรา” We-Society :
1. จาก Ego-Centricity เป็น Eco-Centricity คือ การกลับแนวคิดจากเดิมที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง แล้วค่อยคำนึงถึง เศรษฐกิจ สังคม และโลกในลำดับต่อมา ไปสู่ความคิดใหม่ โดยเอาโลกเป็นศูนย์กลาง ต่อด้วยสังคม เศรษฐกิจ และตัวเองเป็นลำดับสุดท้าย
2. จาก Nature as Resource เป็น Nature as Source เปลี่ยนจากความคิดเดิมที่ว่าโลก คือแหล่งทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไปโดยไม่คำนึงถึงคนรุ่นหลัง เป็นความคิดใหม่ว่าโลกคือแหล่งกำเนิดทรัพยากร จะต้องใช้อย่างรู้คุณค่า
3. จาก Power of Knowledge เป็น Power of Shared Knowledge วันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ที่คนมีความรู้คือคนมีอำนาจ แต่พลังอำนาจในวันนี้เกิดจากการแชร์ความรู้ในต่างมุมต่างมิติ
4. จาก People for Growth เป็น Growth for People ในอดีตซึ่งเป็นระบบอุตสาหกรรมเราสร้างคนเป็นเพื่อปัจจัยการผลิตและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต โดยการใช้ Incentive เป็นสิ่งดึงดูด แต่ทุกวันนี้คนมีค่ามากกว่านั้น การเติบโตต้องสร้างคน ด้วยการสร้างแรงบันดาลใจ (Inspiration) เพื่อปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งการอุดมศึกษาจะเป็นส่วนสำคัญ ที่จะนำไปสู่เป้าหมายและผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และนี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่เอาคนเป็นตัวตั้ง ไม่เอาเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง
5. จาก Detachment/Enforcement เป็น Empowerment/Engagement เปลี่ยนจากการไม่มีส่วนร่วมของประชาชนและการบังคับให้ทำตาม เป็นการสร้างเสริมพลังและให้ประชาชนมีส่วนร่วม
6. จาก Limited Access เป็น Open Access จากเดิมที่โอกาสและทรัพยากรเข้าถึงได้อย่างจำกัดเฉพาะกลุ่ม เปลี่ยนเป็นสามารถเข้าถึงได้โดยทุกคน
7. จาก Personal Privilege เป็น Impersonal Rights จากอภิสิทธิพิเศษส่วนบุคคลเป็นสิทธิที่ทุกคนพึงได้อย่างเท่าเทียมกัน
8. จาก Centralized Hierarchical Structure เป็น Multilayer Poly-centric Networks จากระบบที่มีการแบ่งชั้นอำนาจแบบมีศูนย์กลางเดียวเป็นระบบที่มีการกระจายอำนาจออกไป
ซึ่งสำหรับข้อที่ 5-8 นั้น ถือเป็นเรื่องเดียวกันในการที่จะเปลี่ยนประเทศไทยสู่ Thailand 4.0 ซึ่งเราต้องสร้างสังคมแห่งโอกาส สร้างสังคมแห่งปัญญา สู่สังคมแห่งอนาคตตามแนวคิดของกระทรวงฯ
9. จาก Brand/Profit as Bottom Line เป็น Stand/Purpose as Bottom Line เรื่องที่เกี่ยวข้องกับเอกชนและธุรกิจที่ผ่านมาเรามุ่งเน้นการสร้างแบรนด์และผลกำไร แต่หลังจากนี้สังคมไม่สนใจแค่แบรนด์แต่จะถามว่าจุดยืนและเป้าประสงค์ของธุรกิจคุณที่มีต่อสังคมและโลกคืออะไร
แน่นอนครับ หลายคนต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง แต่มีคนจำนวนไม่มากนักที่ผลักดันขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นครับ ผมขอเน้นว่า พวกเราทุกคนคือ ผู้กำหนดอนาคต (Future Changer) ซึ่งเราต้องคิดการใหญ่ เปลี่ยนกระบวนทัศน์จาก Me – Society เป็น We – Society ร่วมคิดร่วมทำเพื่อ Creating the Better World, Better Society และ Better Self ครับ
ถ้าต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง เราต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ ไม่ต้องรอผลัดวันประกันพรุ่งว่าทุกเรื่องเป็นเรื่องอนาคต แต่เราต้องคิดว่า
The Future is Us (Not Me)
The Future is Here (Not There)
The Future is Today (Not Tomorrow) ครับ