เป้าหมายที่ร่างยุทธศาสตร์ไว้จนถึง พ.ศ. 2579 ซึ่งจะวางเป็นกรอบใหญ่ไว้สำหรับกำหนดเป้าหมายในทุก ๆ 5 ปี เพื่อมุ่งสร้างความมั่นคง
เหมาะกับใคร
- คนไทยทุกคน
- ข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ
ใจความสำคัญ
- เป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คือกรอบระยะเวลาในการดำเนินงานของแผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งภายใต้แผนพัฒนาใน 20 ปีนี้ จะมีต้องมีการบรรลุเป้าหมายในด้านต่าง ๆ ทุก ๆ 5 ปี เพื่อให้เห็นการพัฒนาของประเทศ
- เป้าหมายใน 5 ปีแรก จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบต่าง ๆ ครั้งยิ่งใหญ่ โดยเน้นแก้ไขสิ่งที่เป็นจุดอ่อนของประเทศ และใช้จุดแข็งของประเทศให้เกิดประโยชน์ใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาผสมผสานเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ
- เป้าหมายใน 10 ปี ประเทศจะต้องมีระบบเศรษฐกิจที่ดี โดยเริ่มจากการสนับสนุนการวิจัย และการนำเทคโนโลยีมาผสมผสานกับสินค้ากลุ่มเกษตรและสาธารณสุข นอกจากนี้ผู้ประกอบการจะต้องทันเทคโนโลยี และยังต้องสร้างบุคลากรทางการวิจัย เพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอนาคต
- เป้าหมายใน 15 ปี ประชากรในประเทศจะต้องเป็นประชากรที่มีคุณภาพ โดยจะพัฒนาให้บุคลากรทุกช่วงวัย มีศักยภาพสูง มีความรู้และทักษะ นอกจากนี้สังคมไทยจะเป็นสังคมที่เท่าเทียม และลดความเหลื่อมล้ำ โดยการจัดสรรทรัพยากร และกระจายบริการจากภาครัฐอย่างทั่วถึง
- เป้าหมายใน 20 ปี เศรษฐกิจและสังคมของประเทศต้องมีสเถียรภาพ ระบบราชการของไทยจะเป็นแบบดิจิทัล มีคุณภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ นอกจากนี้ยังได้วางแผนในการฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้ในประเทศ เพื่อความยั่งยืนของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในประเทศอีกด้วย
เป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คืออะไร?
ยุทธศาสตร์ชาติ คือ แผนแม่บทที่กำหนดเป้าหมายอนาคตประเทศในระยะยาว 20 ปี (พ.ศ. 2560-พ.ศ. 2579) ซึ่งจะวางแนวทางในการพัฒนา และดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้รัฐบาลใดก็ตาม ซึ่งแผนระยะยาวนี้จะเป็นกรอบที่ช่วยให้แผนการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติอย่างเหมาะสม ซึ่งภายใต้แผนการ 20 ปี จะมีจุดประสงค์เพื่อบรรลุเป้าหมายในด้านต่าง ๆ ทุก ๆ 5 ปี แบ่งออกเป็น ระยะ 5 ปี, 10 ปี, 15 ปี และ 20 ปี เพื่อนำประเทศไปสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”
เป้าหมายใน 5 ปีแรก : เศรษฐกิจและสังคมไทยมีการพัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ในช่วง 5 ปี แรก ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ โดยแก้ไขสิ่งที่เป็นจุดอ่อนและข้อจำกัดของประเทศซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมานาน ในขณะเดียวกันก็ต้องดำเนินยุทธศาสตร์ชาติในเชิงรุก เพื่อใช้ประโยชน์จากจุดแข็งและจุดเด่นของประเทศ โดยจะมุ่งเน้นในการสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ ในกระบวนการผลิตและบริการ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และรูปแบบธุรกิจ รวมถึงการใช้ชีวิตของประชาชน ตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ซึ่งนอกจากจะได้ประโยชน์ในการเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและบริการแล้ว ยังมีผลต่อคุณภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้าง
กลยุทธ์สำคัญคือ การกำหนดวาระวิจัยแห่งชาติ ให้มีจุดเน้นที่ชัดเจน โดยส่งเสริมความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคเอกชนในทุกสาขาการผลิตและบริการ ซึ่งการวิจัยของประเทศต้องสอดคล้องกับเป้าหมายในการพัฒนาสังคม ส่วนภาคเอกชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมโดยการสนับสนุนเงินทุน ความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และทรัพยากรด้านอื่น ๆ รวมถึงการสนับสนุนชุมชนในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ เพื่อสร้างสังคมคุณภาพ
เป้าหมายใน 10 ปี : ระบบเศรษฐกิจมีความเป็นชาติการค้า มีระบบเศรษฐกิจดิจิตอลที่เข้มข้น ทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรรม บริหาร วิสาหกิจ
การทำให้ประเทศมีระบบเศรษฐกิจที่ดี ต้องเริ่มจากการสนับสนุนการวิจัยพัฒนา เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับสินค้าและบริการที่มีอยู่แล้ว สามารถต่อยอดไปได้อีก โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาผสมผสาน อาทิ อาหาร การเกษตร กลุ่มสาธารณสุข และเทคโนโลยีการแพทย์ รวมถึงเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีควบคุม
นอกจากนี้ยังต้องพัฒนาผู้ประกอบการให้ตามทันเทคโนโลยี โดยเชื่อมโยงผู้ผลิตกลุ่มใหญ่ของประเทศ อย่างเช่น เกษตรกรรายย่อย วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กับ สถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา เพื่อร่วมกันนำผลวิจัยมาใช้ต่อยอดสินค้าและบริการ และต้องทำควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้สังคมผู้ประกอบการต้องผลิตได้และขายเป็น
และยังต้องเร่งสร้างบุคลากรทางการวิจัย ในสาขาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เพื่อให้ตอบสนองได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด การปรับกลไกต่าง ๆ ต้องทำให้มีความสอดคล้อง และพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้ตามที่ต้องการ
เป้าหมายใน 15 ปี : ประชากรที่มีคุณภาพ มีศักยภาพในการพัฒนาประเทศ สังคมไทยเป็นสังคมที่เป็นธรรม
หนึ่งในส่วนสำคัญของที่ขาดไม่ได้เลย คือ การพัฒนาคุณภาพคนทุกช่วงวัยให้มีศักยภาพสูง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากจำนวนประชากรวัยแรงงานในประเทศกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง คุณภาพคนยังมีปัญหาและส่งผลกระทบต่อเนื่อง อีกทั้งผลการศึกษาของเด็กไทยมีค่าเฉลี่ยค่อนข้างต่ำ ทำให้ต้องมีแผนในการพัฒนาประชากรทุกวัย โดยมุ่งเน้นทักษะที่เหมาะสมกับวัยต่าง ๆ เช่น พัฒนาให้เด็กวัยเรียนและวัยรุ่นมีการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ส่วนวัยแรงงานก็จะเน้นการสร้างความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพขั้นพื้นฐาน และทักษะเฉพาะ เป็นต้น
ต่อมาคือ การพัฒนาสังคมไทยให้เป็นธรรม เพื่อความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ และจะพัฒนาบริการทางสังคมให้ทั่วถึงมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการศึกษาและสาธารณสุข สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม สนับสนุนในการสร้างอาชีพ รายได้ และเชื่อมโยงการเพิ่มผลิตภาพสำหรับคนที่รายได้ต่ำ หรือผู้ด้อยโอกาส
กระจายบริการจากภาครัฐให้ทั่วถึงทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ รวมถึงจัดสรรทรัพยากรให้กระจายตัว เพื่อสร้างปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจอย่างทั่วถึง
เป้าหมายใน 20 ปี : เศรษฐกิจและสังคมพัฒนาอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ระบบราชการมีประสิทธิภาพ โปร่งใส
เพื่อบรรลุเป้าหมายให้ประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ต้องทำการเพิ่มทุนทางธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน และน้ำ
โดยได้มีการตั้งเป้าในการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ 40% ของพื้นที่ในประเทศ เพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จัดการกับขยะมูลฝอยอย่างถูกหลัก และรักษาคุณภาพน้ำและคุณภาพอากาศในพื้นที่วิกฤต
ส่วนการพัฒนาในภาครัฐ ต้องสร้างความมั่นคง และเพิ่มความเชื่อมั่นต่อนานาชาติ บริหารระบบราชการให้ทันสมัย มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยการกระจายอำนาจและให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพิ่มการใช้ระบบดิจิตอลเป็นช่องทางบริการประชาชน ปรับปรุงปัญหาคอร์รัปชัน และจัดการบริหารให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระมากขึ้น
สรุป
ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มีแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 เป็นแผนการขับเคลื่อนประเทศไปตามกรอบที่กำหนด จะต้องมาจากความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อให้ประเทศไทยได้บรรลุเป้าหมายภายในระยะเวลา 20 ปี และเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศและประชาชนอย่างยั่งยืน