ศูนย์ไบโอเทค ร่วมกับ ศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เปิดตัวฐานข้อมูลจุลินทรีย์อาเซียน (AmiBase) หวังสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาทางเทคโนโลยีชีวภาพในภูมิภาค ให้ก้าวไปสู่เศรษฐกิจฐานชีวภาพ
เมื่อวันที่ 24 พ.ค.2562 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (ASEAN Centre for Biodiversity: ACB) เปิดตัว “ฐานข้อมูลจุลินทรีย์อาเซียน หรือ AmiBase (ASEAN Microbial Database) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีการรวบรวมข้อมูลของจุลินทรีย์ที่ค้นพบในอาเซียนไว้มากกว่า 30,000 ชนิด ซึ่งจุลินทรีย์เหล่านี้มีประโยชน์ในการสร้างนวัตกรรม เพื่อพัฒนาทางเทคโนโลยีชีวภาพในภูมิภาค ให้ก้าวไปสู่เศรษฐกิจฐานชีวภาพ
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากแห่งหนึ่งของโลกโดยเฉพาะความหลากหลายของจุลินทรีย์ ที่มีบทบาทสำคัญในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ และถือเป็นรากฐานความสำคัญของเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อผลักดันอุตสาหกรรมด้านอาหาร การแพทย์ การเกษตร และพลังงาน ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพให้ทันกับพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยไบโอเทค สวทช. ได้ผนึกกำลังผสานความร่วมมือกับเครือข่ายอาเซียนด้านการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์(ASEAN Network on Microbial Utilization: AnMicro) กับ ACB ดำเนินโครงการพัฒนาและจัดตั้งศูนย์ข้อมูลจุลินทรีย์แห่งอาเซียน โดยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากกองทุนอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (ASEAN Science, Technology and Innovation Fund)นำไปสู่การพัฒนา AmiBase เพื่อเป็นฐานข้อมูลสนับสนุนนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์และผู้สนใจในการศึกษาวิจัยการใช้ประโยชน์จุลินทรีย์ การพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
รศ.นพ. สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวว่า กระทรวง ฯ เป็นตัวแทนประเทศไทยในฐานะคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรม (ASEAN COSTI) มุ่งส่งเสริมความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งฐานข้อมูลจุลินทรีย์อาเซียน หรือ AmiBase นี้เป็นผลงานของประชาคมวิทยาศาสตร์อาเซียนด้านเทคโนโลยีสีเขียวเพื่อนวัตกรรม และความยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยแสดงให้เห็นถึงการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อความยั่งยืนที่ตรงกับแนวคิดหลักของการเป็นประธานอาเซียนปี 2562 ของไทยที่ว่า “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” (Advancing Partnership for Sustainability)”
ด้าน ดร. สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการไบโอเทค กล่าวว่า ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ไบโอเทคได้พัฒนาความเชี่ยวชาญ สู่การเป็นสถาบันวิจัยชั้นนำด้านการอนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ โดยได้ก่อตั้งเครือข่ายอาเซียนด้านการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ (ASEAN Network on Microbial Utilization: AnMicro) ในปี พ.ศ. 2557 ภายใต้การสนับสนุนของคณะอนุกรรมการอาเซียนด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ การวิจัยและเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรด้านการใช้ประโยชน์จุลินทรีย์ในสถาบันการศึกษาและองค์กรวิจัยในภูมิภาคอาเซียนผ่านเครือข่าย AnMicro นี้
ผู้อำนวยการไบโอเทค กล่าวต่อว่า ฐานข้อมูล AmiBase เป็นอีกโครงสร้างพื้นฐานที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถแก่นักวิจัยในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลจุลินทรีย์ของอาเซียนซึ่งก่อนหน้านี้เก็บกระจายอยู่ในหน่วยงานต่างๆ ไว้ในรูปแบบที่แตกต่างกัน ก่อให้เกิดการศึกษาการใช้ประโยชน์จุลินทรีย์ และเร่งการค้นพบนวัตกรรมจุลินทรีย์อย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจชีวภาพ
ด้าน ดร.เทเรซ่า มุนดิตา เอส ลิม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (ACB) ให้ข้อมูลว่า ACB เป็นหน่วยงานระหว่างประเทศของอาเซียนที่มุ่งมั่นจะส่งเสริมความร่วมมือด้านการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน โดย ACB สนับสนุนกลไกเผยแพร่ข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ (Clearing House Mechanism : CHM) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มระดับภูมิภาคในการแบ่งปันข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อใช้ในการพัฒนานโยบายในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของอาเซียน โดยทาง ACB มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับไบโอเทค ซึ่งเป็นตัวแทนของเครือข่าย AnMicro ในการสร้างฐานข้อมูล AmiBase และการเชื่อมโยงข้อมูลจุลินทรีย์จาก AmiBase ไปสู่ฐานข้อมูลสิ่งมีชีวิตของ CHM จะช่วยทำให้ฐานข้อมูลของ CHM ครอบคลุมและตอบสนองความต้องการของประเทศสมาชิกอาเซียนในด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างกว้างขวาง
ดร.ลิลี่ เอื้อวิไลจิตร นักวิจัยไบโอเทค และหัวหน้าโครงการฯ อธิบายว่า ฐานข้อมูล AmiBase จัดตั้งขึ้นเพื่อบูรณาการข้อมูลจุลินทรีย์ในหลากหลายมิติจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เช่น ข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพของจุลินทรีย์ ข้อมูลพันธุกรรมระดับยีนและจีโนม รายงานการวิจัย และบทความทางวิชาการ ข้อมูลการเก็บรักษา และบริการของศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ในอาเซียน เป็นต้น ซึ่งข้อมูลส่วนหนึ่งของ AmiBase เกิดจากการแชร์ข้อมูลจุลินทรีย์ของศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ในอาเซียน ที่มีการจัดเก็บข้อมูลจุลินทรีย์ด้วยซอฟต์แวร์ที่เรียกว่า iCollect ซึ่งพัฒนาโดยทีมวิจัยของไบโอเทค โดยกิจกรรมหนึ่งที่สำคัญในโครงการนี้ที่นำไปสู่ความสำเร็จในการจัดตั้ง AmiBase ได้ คือ การสร้างความสามารถด้านการบริหารและการจัดการข้อมูลจุลินทรีย์ ให้กับบุคลากรของศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ในอาเซียนผ่านการฝึกอบรมการใช้งานซอฟต์แวร์ iCollect เพื่อให้แต่ละศูนย์ฯ สามารถจัดการข้อมูลจุลินทรีย์ได้อย่างเป็นระบบและยังสามารถเชื่อมต่อกับฐานข้อมูล AmiBase ได้เมื่อต้องการ
อย่างไรก็ตาม การบูรณาการข้อมูลจากศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ไม่สามารถครอบคลุมความหลากหลายทางชีวภาพของจุลินทรีย์ที่มีการค้นพบ และเคยถูกรายงานได้ทั้งหมดเนื่องจากสายพันธุ์จุลินทรีย์จำนวนมากยังไม่สามารถคัดแยกหรือเลี้ยงในห้องปฏิบัติการได้ ดังนั้น การพัฒนาฐาน AmiBase จึงใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทำการสืบค้น การทำเหมืองข้อมูลและสกัดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับจุลินทรีย์จากการศึกษาวิจัยด้านไมโครไบโอม และเมตาจีโนมิกส์ที่มีอยู่มารวบรวมและจำแนกออกเป็นกลุ่มต่างๆ ตามลำดับอนุกรมวิธาน ปัจจุบันฐาน AmiBase มีข้อมูลจุลินทรีย์ที่เคยถูกรายงานการค้นพบในอาเซียนมากกว่า 30,000 ชนิด ในกลุ่มแบคทีเรีย อาร์เคีย รา สาหร่าย โปรโตซัว และไวรัส
ข้อมูลเหล่านี้ได้ถูกเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์www.amibase.org ทำให้สามารถค้นหาได้ง่ายและสะดวก เว็บไซต์ได้มีการพัฒนาวิธีการนำเสนอข้อมูลแบบกราฟฟิก (Data Visualization) ที่ผู้ใช้สามารถปรับแต่งคัดเลือกข้อมูลเพื่อสร้างกราฟฟิกตามข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไป (Data-Driven Document) เพื่อแสดงปฏิสัมพันธ์ระหว่างจุลินทรีย์กันเอง และความสัมพันธ์ระหว่างจุลินทรีย์กับแหล่งที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ ฐานข้อมูล AmiBase ยังมีเครื่องมือวิเคราะห์ออนไลน์ที่สามารถเปรียบเทียบข้อมูลพันธุกรรมสายพันธุ์ของจุลินทรีย์ในระดับยีนและจีโนมเพื่อสนับสนุนการค้นพบจุลินทรีย์ชนิดใหม่ และการวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลไมโครไบโอมในลักษณะโครงสร้างและองค์ประกอบของจุลินทรีย์อีกด้วย
นอกจากนี้ การเชื่อมโยงข้อมูลจุลินทรีย์เหล่านี้ไปยังกลไกการเผยแพร่ความหลากหลายทางชีวภาพของอาเซียน (CHM) ของ ACB จะช่วยให้มีข้อมูลในการขับเคลื่อนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น และเป็นที่น่ายินดีที่ฐานข้อมูล AmiBase นี้จะมีปริมาณข้อมูลเพิ่มขยายมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ในอาเซียนที่มีส่วนร่วมให้ข้อมูลทั้ง 16 แห่ง ต่างมีความมุ่งหมายจะช่วยเชิญหน่วยงานในประเทศของตนเข้าร่วมในโครงการเพื่อพัฒนาความสามารถของบุคลากรในการจัดการข้อมูลจุลินทรีย์และร่วมพัฒนาฐานข้อมูลจุลินทรีย์ของอาเซียน.