วันนี้ (๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สุภัทร จำปาทอง) เป็นประธานการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นบทบาทและสัมฤทธิผลของมหาวิทยาลัยราชภัฏ โดยมี ศาสตราจารย์กิตติคุณจรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา (นางสาวสมรัชนีกร อ่องเอิบ) ผู้บริหาร ครูอาจารย์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน จำนวน ๑๒๐ คน ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมราชา ๑ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพฯ
ดร.สุภัทร จำปาทอง กล่าวว่า การพัฒนาการและการปรับเปลี่ยนบทบาทของมหาวิทยาลัยราชภัฏจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้ปัจจุบันมหาวิทยาลัยราชภัฏ มีจำนวนทั้งสิ้น ๓๘ แห่งทั่วประเทศ ถือเป็นมหาวิทยาลัยท้องถิ่น และมีเป้าหมายหลักชัดเจนในเรื่องเดียวกันคือ การพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการทำงานด้านผลิตบัณฑิต ผลิตงานวิจัย การบริการวิชาการ และทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยการพัฒนาในช่วง ๓-๔ ปี ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยราชภัฏได้ปรับยุทธศาสตร์ใหม่ ระยะ ๒๐ ปี พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๗๙ โดยน้อมนำพระบรมราโชบายของพระบรมราโชบายในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ส่งเสริม สนับสนุนมหาวิทยาลัยราชภัฏผลิตและพัฒนาครูคุณภาพ และทำหน้าที่พัฒนาท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งในการกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ มีจุดเน้น ๔ ประเด็น ได้แก่ ๑) การพัฒนาท้องถิ่น ๒) การผลิตและพัฒนาครู ๓) การยกระดับคุณภาพการศึกษา และ ๔) การพัฒนาระบบการบริหารจัดการ
ในส่วนของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษามีบทบาทหน้าที่สำคัญประการหนึ่งในการดำเนินการติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาของประเทศ จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตศึกษาบทบาทและผลสัมฤทธิ์ตามยุทธศาสตร์ใหม่ของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งผลสัมฤทธิ์จะต้องใช้เวลาในการวัดการประเมินผลที่เกิดขึ้น ดังนั้น การประชุมสัมมนาครั้งนี้จะเป็นการศึกษาบทบาทตามยุทธศาสตร์ใหม่ ติดตามและวิจัยเชิงประเมินบทบาทและสัมฤทธิผลของมหาวิทยาลัยราชภัฏ เพื่อขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาของท้องถิ่น ดูแลประชาชนและเยาวชนในพื้นที่ ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะจะเป็นประโยชน์ต่อการนำข้อมูลประกอบข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยราชภัฏตามยุทธศาสตร์ในฐานะมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น และแนวทางในการทบทวนและปรับยุทธศาสตร์ในอนาคต
ศาสตราจารย์กิตติคุณจรัส สุวรรณเวลา กล่าวว่า บทบาทของมหาวิทยาลัยราชภัฏ มีความสำคัญทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้า ในขณะนี้ คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา หรือ กอปศ. ได้ดำเนินการศึกษาปัญหาทางการศึกษาและจัดทำแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และรายงานข้อเสนอตามแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาเสนอต่อรัฐบาล เพื่อนำเสนอต้นตอหรือสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดและถือได้ว่าเป็นวิกฤติด้านการศึกษาของประเทศไทย สิ่งที่พบ คือ คุณภาพการศึกษาไทยไม่ได้มาตรฐาน เกิดความเหลื่อมล้ำสูง ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ ความสามารถในการแข่งขันต่ำ และการบริหารด้อยประสิทธิภาพและประสิทธิผล ดังนั้น ถือเป็นโอกาสที่สำคัญของมหาวิทยาลัยราชภัฏที่จะเข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการด้านการศึกษาในพื้นที่ทุกจังหวัด และร่วมแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการร่วมกับหน่วยงานระดับจังหวัดจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระดับพื้นที่เพื่อผลิตบัณฑิตและพัฒนากำลังคนที่จะสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพ สร้างการวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรม การบริการวิชาการเพื่อสังคม การบริหารจัดการที่ทันสมัย มีธรรมาภิบาล ตอบสนองความต้องการในท้องถิ่น สร้างคนให้กับท้องถิ่น เป็นการศึกษาตลอดชีวิต
สำหรับ ช่วงบ่ายมีการนำเสนอรายงานการติดตามและวิจัยเชิงประเมินบทบาทและสัมฤทธิผลของมหาวิทยาลัยราชภัฏ โดย ศาสตราจารย์ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิราทัศน์ รัตนมณีฉัตร มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ซึ่งคณะผู้วิจัยได้ดำเนินการนำร่องติดตามและวิจัยเชิงประเมินบทบาทและสัมฤทธิผลตามยุทธศาสตร์ใหม่ของมหาวิทยาลัยราชภัฏ จำนวน ๕ แห่งกระจายทั่วประเทศ เพื่อนำผลการศึกษาและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการอภิปรายมาเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการศึกษาต่อไป