ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
ประธานเปิดงาน “การประชุมชี้แจงระบบ แผน และแนวทางการจัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม”
อาจารย์ ดร.สุพจน์ ทรายแก้ว อธิการบดี นางนงลักษณ์ สมณะ ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผน และผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ได้เข้าร่วมรับฟังการบรรยาย การประชุมชี้แจง ระบบ แผน และ แนวทางการจัดสรรงบประมาณ ให้หน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ระหว่างวันที่ 1-2 สิงหาคม 2562 ณ ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม อิมแพค เมืองทองธานี
คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเข้าร่วมการประชุมชี้แจงระบบ แผนและแนวทางการจัดสรรงบประมาณ
ให้หน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ได้กล่าวถึงแนวทางใหม่ของการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ว่าการจัดสรรงบวิจัยภายใต้กระทรวงใหม่ ต้องโปร่งใส ตอบโจทย์ เกิดประโยชน์สูงสุด โดย อว. มีสัญญาประชาคม 7 ประการ ในการขับเคลื่อนกระทรวง คือ 1) เน้น “การส่งเสริม สนับสนุน” และ “การกำกับดูแล” 2) ลดทอนบทบาท “การบังคับและสั่งการ” 3) ยกเลิก แก้ไข กฎระเบียบที่ล้าสมัยไม่ตอบโจทย์หรือเป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนภารกิจของสถาบันอุดมศึกษา 4) เน้นการทำงานเชิงภารกิจ เน้นการทำงานเชิงผลสัมฤทธิ์ที่จับต้องได้ 5) เน้นการทำงานเชิงระบบและบูรณาการ 6) เน้นการทำงานที่คล่องตัว กะทัดรัดแต่มีสมรรถนะ และ 7) ทำงานแข่งกับเวลา โดยวาระขับเคลื่อนกระทรวง อว. มุ่งเน้น 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
1.ปฏิรูปการอุดมศึกษาทั้งระบบ สร้างหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นการพัฒนาสมรรถนะและประสบการณ์ ยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนให้ได้มาตรฐานสากลและตรงกับความต้องการของตลาด ปรับเปลี่ยนมหาวิทยาลัยเป็น มหาวิทยาลัยผู้ประกอบการ “Entrepreneurial University” เน้นการส่งเสริมสนับสนุนและการกำกับดูแล ลดการบังคับ สั่งการยกเลิก แก้ไขกฎระเบียบที่ล้าสมัย ทบทวนกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระกับอุดมศึกษาแห่งชาติ ปรับปรุงวิธีการขอตำแหน่งทางวิชาการ เป็นต้น
2.สร้างและพัฒนาคน เตรียมพร้อมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 สร้างโอกาสที่เท่าเทียมในการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาบัณฑิตที่จบออกมามีงานทำในสาขาอาชีพใหม่ๆ เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ สามารถทำงานในตลาดโลก ปรับเปลี่ยนเติมทักษะ เสริมอาชีพให้กับคนทำงานและประชาชนทั่วไปเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง รวมถึง “การศึกษาสำหรับคนสูงวัย”
3.สร้างและพัฒนาองค์ความรู้ : ปรับทิศทางการวิจัยเน้นงานวิจัยที่มีผลกระทบสูง โดยจะมีการยกเครื่องระบบนิเวศของงานวิจัย สร้างคลังปัญญาและเครือข่ายการวิจัยระหว่างประเทศ บูรณาการงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ เน้นการแปลงงานวิจัยให้ออกมาเป็นขีดความสามารถของนวัตกรรมในเชิงธุรกิจ นวัตกรรมสังคม และนวัตกรรมชุมชน
4.สร้างและพัฒนานนวัตกรรม พัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการรังสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ อาทิ การจัดตั้งกองทุนยุว Startups ในสถาบันอุดมศึกษา การพัฒนาตลาดนวัตกรรมในภาครัฐ การบ่มเพาะผู้ประกอบการนวัตกรรม เป็นต้น
“หัวใจสำคัญของงานวิจัยอยู่ที่มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัย ซึ่งเดิมแยกส่วนกัน แต่ตอนนี้ได้อยู่ภายใต้กระทรวงเดียวกัน และตัวจัดสรรงบประมาณผ่านหน่วยงานให้ทุนวิจัยคือ สกสว. และ วช. ดังนั้น การขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์ของประเทศจะสามารถทำได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งถือเป็นมิติใหม่และเป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงที่ให้ประชาคมที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยมารวมกัน เกือบ 1,500 คน ประกอบด้วย นักวิจัยจากกระทรวงต่าง ๆ ภาคเอกชนและมหาวิทยาลัย จึงนับเป็นการซักซ้อมความเข้าใจที่จะขับเคลื่อนร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 3 ภารกิจของกระทรวง อว. ได้แก่ การสร้างและพัฒนาคน การสร้างองค์ความรู้ผ่านการวิจัยและพัฒนา และการสร้างนวัตกรรม ทั้งนี้ 1 ใน 3 ของภารกิจดังกล่าว ก็ได้รับการขับเคลื่อนภายในงานครั้งนี้”
รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าว