ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ กล่าวในที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ในโอกาสที่ได้รับเชิญไปร่วมหารือกับที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎและสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ว่า ตนได้เน้นการร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยและกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ในการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ ซึ่งมหาวิทยาลัยมีส่วนสำคัญทั้งการสร้าง Manpower และ Brainpower
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปอุดมศึกษาทั้งระบบ เพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถตอบโจทย์การขับเคลื่อนประเทศได้ สิ่งที่จะทำมีทั้งประเด็นแก้ปัญหาเร่งด่วนและการวางรากฐานระยะยาว ตามที่ผมได้แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนและติดตามนโยบายรัฐมนตรีฯ ขึ้นมา 1 ชุด นำโดย รศ. ดร. พีระพงศ์ ทีฆสกุล เพื่อหาแนวทางปลดล็อครวมถึงแนวทางการพัฒนามหาวิทยาลัย โดยมีเรื่องที่สำคัญ ๆ คือ ธรรมาภิบาล การกำหนดตำแหน่งวิชาการ มคอ. และคุณภาพมหาวิทยาลัย ขณะนี้คณะทำงานฯได้เสนอแนวทางที่จะปลดล๊อคในระยะเร่งด่วนแล้ว ดังนี้ครับ
แนวทางที่จะประกาศทันที ตามที่คณะทำงานของผมได้พิจารณาร่วมกันดังนี้
1. ชี้แจงแนวปฏิบัติ เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร และเกณฑ์มาตรฐานอุดมศึกษา และเน้นย้ำว่า มคอ 3-7 สามารถดำเนินการได้โดยอยู่ในดุลยพินิจของสถาบัน แต่ต้องครอบคลุมมาตรฐานคุณภาพ 5 ด้านของ TQF(Thai Qualifications Framework) หมายความว่ามหาวิทยาลัยไม่ต้องใช้แบบฟอร์มกลาง สามารถออกแบบเองโดยเน้นผลสัมฤทธิ์อย่าเน้นรายละเอียดปลีกย่อยจนเป็นภาระของอาจารย์ เอาเฉพาะที่สำคัญๆ
2. การอนุมัติหลักสูตรเป็นอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของสภาสถาบันอุดมศึกษา และต้องส่งข้อมูลใน CHECO โดยจะปรับระบบ CHECO ให้สะดวกและไม่ซับซ้อน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน เมื่อปรับระบบเสร็จแล้วจะใช้เวลาตรวจสอบเฉพาะความครบถ้วนของหลักสูตรไม่เกิน 1 สัปดาห์ โดยจะเน้นประเด็นที่สำคัญต่อการรับรองมาตรฐานและสะท้อนคุณภาพหลักสูตร เพื่อประโยชน์ในการติดตามตรวจสอบย้อนหลัง ทั้งนี้ข้อมูลเอกสารที่สถาบันแจ้งผ่าน CHECO ถือเป็นความรับผิดชอบของสภาสถาบัน
สำหรับแนวทางภายใน 3 เดือน ซึ่งจะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของ ก.พ.อ. กกอ. หรือ กมอ. ก่อนคือ
1. ในเรื่องการกำหนดตำแหน่งวิชาการ จะยกเลิกข้อบังคับที่ล้าสมัยและไม่ก่อให้เกิดการทำงานร่วมกันคือ ยกเลิกการแสดงสัดส่วนผลงานทางวิชาการในรูปแบบเปอร์เซนต์ ยกเลิกเกณฑ์ที่กำหนดว่าผลงานทางวิชาการที่ใช้ขอตำแหน่ง ผู้ขอต้องมีส่วนร่วม 50% ขึ้นไป ยกเลิกวิธีพิเศษ ของการขอตำแหน่งวิชาการในสาขาใหม่ หรือสาขาที่เป็น multidisciplinaries และ interdisciplinaries อนุญาตให้ใช้ผลงานของนักศึกษา แพทย์ฝึกหัด และ บุคลากรวิจัยที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลหรือให้คำปรึกษาโดยตรงจากผู้ขอตำแหน่งวิชาการ มาใช้เป็นผลงานเพื่อขอตำแหน่งวิชาการได้ ยกเลิกการกำหนดเพดานสัดส่วนเปอร์เซนต์ผลงานของCorresponding author และ First author และยกเลิกอนุกรรมการพิจารณาสาขาวิชา รวมถึงรายการกำหนดสาขาวิชา
2. ด้านมาตรฐานหลักสูตร ประเด็น มคอ. จะสร้างหรือปรับแบบฟอร์ม มคอ 3-7 ใหม่เพื่อให้คล่องตัวสะดวก ตอบโจทย์คุณภาพหลักสูตร การจัดกลุ่มมหาวิทยาลัย และการศึกษาสมัยใหม่ ไม่เป็นภาระของอาจารย์รวมถึงตอบโจทย์คุณภาพของ non-degree, re-skill, up-skill และ MOOC ปรับการตรวจประเมินหลักสูตรให้มองในคุณภาพหลักสูตรภาพรวม โดยเป็นไปตามมาตรฐานสากล เช่น อ้างอิง TEQSA ของประเทศออสเตรเลีย ปรับเนื้อหาใน มคอ. 2 ให้ตอบโจทยcคุณภาพ TQF 5 ด้าน และระบุเฉพาะสิ่งที่จำเป็นหรือเพิ่มในสิ่งที่ขาด และพิจารณาประกาศเพิ่มเติมในเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร ให้มีความคล่องตัวและปฏิบัติได้ถูกต้อง
3. ด้านคุณภาพมหาวิทยาลัย จะสร้างเครื่องมือเพื่อประเมินศักยภาพและความสามารถของสถาบันอุดมศึกษาตามกลุ่มยุทธศาสตร์ การจัดตั้งคณะที่ปรึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลงมหาวิทยาลัย (Transformation Advisory Committee) กำหนดแนวทางการก้าวสู่มหาวิทยาลัย 1 ใน 100 ของโลกกำหนดคณะทำงาน/คณะอนุกรรมการและหน้าที่ในการขับเคลื่อนอุดมศึกษาเชิงระบบ และจัดทำ OKRs ของกระทรวงและของกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา
4. เรื่องธรรมาภิบาล จะวางแนวทางการได้มาของสภามหาวิทยาลัยที่ไม่เกิดการขัดกันแห่งผลประโยชน์ การกำหนดจำนวนสถาบันที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยสามารถดำรงตำแหน่งได้ในคราวเดียวกันแนวทางการพัฒนาหลักสูตรที่ให้ความรู้แก่กรรมการสภามหาวิทยาลัยที่เห็นผลจริง และกำหนดให้ผู้ที่จะเป็นกรรมการสภาฯจะต้องผ่านหลักสูตรด้วย และการให้มหาวิทยาลัยเปิดเผยข้อมูลการเงินต่อสาธารณะส่วนในระยะต่อไป (3-6 เดือน) จะเน้นแนวทางการแก้ปัญหาธรรมาภิบาลของมหาวิทยาลัยทั้งระบบ ปรับแนวทางการกำหนดตำแหน่งวิชาการที่สามารถผลักดันให้อาจารย์ทำงานวิจัยและสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ประเทศ ปรับ มคอ. ให้มีความยืดหยุ่น และเกิดการพัฒนาหลักสูตรและบัณฑิต การประเมินศักยภาพและความสามารถของสถาบันอุดมศึกษาตามกลุ่มยุทธศาสตร์ และแนวทางยกระดับมหาวิทยาลัยให้ติด 1 ใน 100 ของโลก รวมถึงการสนับสนุนมหาวิทยาลัยให้สอดคล้องตามกลุ่มยุทธศาสตร์ครับ ผมยินดีรับฟังทุกความเห็นที่สร้างสรรค์และจะให้คณะทำงานฯ นำไปพิจารณาต่อไปครับ”
ที่มา : Srinakharinwirot University